ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วางแผนการใช้จ่าย

ใช้จ่ายอย่างถูกวิธี

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “การหาเงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่การรู้จักใช้เงินที่มีอยู่อย่างรู้ค่า เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่า” เพราะเงินเป็นทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่จำกัดของมนุษย์ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรู้จักจัดสรรและใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะไม่เช่นนั้นเงินที่เราหามาด้วยความเหน็ดเหนื่อย ก็จะสูญเปล่าไปอย่างรวดเร็ว และไม่เกิดประโยชน์ขึ้นแต่อย่างใด

การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยทั่วไปการใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิตคนเราล้วนเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ในการดำรงชีวิต แต่หากการใช้จ่ายนั้นเป็นการกระทำโดยไม่ยั้งคิด ขาดความระมัดระวัง ย่อมก่อให้เกิดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย จนบางครั้งรายได้ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้ในการดำรงชีวิต และกลายเป็นปัญหาทางการเงินในที่สุด ซึ่งในขณะที่เรายังมีเงินอยู่กับตัว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะชีวิตเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเริ่มต้นง่ายๆ จาก...
  • วางแผนก่อนใช้จ่ายทุกครั้ง การวางแผนการจับจ่ายใช้สอยล่วงหน้า โดย “คิดก่อนซื้อ” จะช่วยให้คุณประหยัดรายจ่าย และป้องกันการใช้จ่ายเกินความจำเป็น นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณสามารถบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
  • เปรียบเทียบราคา ยี่ห้อ คุณภาพหรือโปรโมชั่นต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้ พยายามฝึกตนเองให้ใช้จ่ายอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น โดยการเปรียบเทียบราคา ยี่ห้อ ตลอดจนคุณภาพ หรือโปรโมชั่นต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งคุณอาจพูดคุยสอบถามกับผู้ขาย เพื่อน หรือคนอื่นๆ ที่เคยใช้สินค้าว่ามีคุณภาพดีหรือไม่ และเลือกสินค้าจากร้านค้าที่เชื่อได้ มีราคาเหมาะสม
  • ทำบัญชีรายรับรายจ่าย การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะทำให้คุณทราบว่าคุณมีนิสัยหรือพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไร ค่าใช้จ่ายใดบ้างที่ไม่จำเป็นและพอจะลดลงได้นอกจากนี้ ยังช่วยเตือนสติให้คุณรู้จักยั้งคิดที่จะใช้จ่ายเงินในครั้งต่อๆ ไปด้วยว่าสมควรที่จะใช้หรือไม่ ฯลฯ
นอกจากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการบริโภคที่ชาญฉลาด เพื่อให้ทราบถึงหลักในการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ เช่น เลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ มีความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์ใช้งาน และเลือกซื้อสินค้าที่มีการรับประกันคุณภาพจากร้านที่ถูกกฎหมาย รวมทั้งรู้จักบำรุงรักษาข้าวของเครื่องใช้ให้อยู่ในสภาพที่เหมาะกับการใช้งานได้นานๆ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้คุณประหยัดเงินค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้มากยิ่งขึ้น พยายามคิดไว้เสมอว่า “ทุกๆ 1 บาท ที่ประหยัดได้ในวันนี้ เท่ากับคุณมีฐานเงินออมเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท ที่จะสามารถนำไปสร้างผลตอบแทนให้งอกเงย นำไปสู่ความมั่งคั่งและมั่นคงในอนาคต”

ประเภทของรายจ่าย

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า... รายจ่าย (Expenses) เป็นส่วนที่บ่งบอกถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายและการใช้ชีวิตของคุณและครอบครัว ซึ่งเครื่องมือที่จะสะท้อนถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ “การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย” หรือ “บัญชีครัวเรือน” ที่จะช่วยให้คุณสามารถแยกแยะหมวดหมู่ของค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งช่วยให้คุณทราบถึงรายจ่ายที่สามารถตัดทอนลงเพื่อให้คุณมีโอกาสบรรลุเป้าหมายทางการเงินของตนเองได้ โดยปกติรายจ่ายหลักๆ จะประกอบไปด้วยหมวดต่างๆ ดังนี้
  • เงินออมสำหรับแผนการในอนาคต เป็นแผนการออมเงินระยะยาวที่ต้องใช้ความตั้งใจและวินัยในการเก็บออมสูง เช่น เงินออมเพื่อการศึกษาบุตรหรือเพื่อการศึกษาต่อของตนเอง เงินออมเพื่อการเกษียณอายุ ฯลฯ ดังนั้น รายจ่ายส่วนนี้จึงเป็นรายจ่ายที่ต้องกันเงินเอาไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ
  • เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เป็นรายจ่ายที่มีไว้เพื่อลดความเสี่ยงกรณีฉุกเฉิน ซึ่งควรเก็บไว้ในรูปของสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ฯลฯ โดยปกติคุณควรจะมีเงินส่วนนี้อย่างน้อย 3 - 6 เท่าของรายจ่ายในปัจจุบันของคุณเอง
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นรายจ่ายส่วนใหญ่ที่ใช้เพื่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเสื้อผ้า ค่าพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายในหมวดนี้มักจะเป็นรายจ่ายที่ใช้แล้วหมดไป โดยไม่ได้แปรเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ
  • ภาระหนี้สิน เป็นรายจ่ายที่เกิดจากการกู้ยืมเงินหรือการนำสินค้าและบริการของคนอื่นมาใช้ก่อน จึงก่อให้เกิดภาระผูกพันในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งภาระหนี้สินมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม การมีหนี้ไม่ได้แปลว่าไม่ดีเสมอไป เพราะหนี้บางอย่างก็เป็นหนี้ที่ดี คือ ช่วยให้มีสินทรัพย์หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น หนี้เพื่อซื้อบ้าน หนี้เพื่อการศึกษา หรือหนี้เพื่อการดำเนินธุรกิจ ฯลฯ
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อประกันความเสี่ยงจากภัยต่างๆ เป็นรายจ่ายที่เป็นประโยชน์สำหรับอนาคต เนื่องจากทุกชีวิตมีโอกาสประสบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้สูญเสียชีวิต รายได้ และทรัพย์สินในอนาคต แต่หากคุณไม่อยากเสี่ยงกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นเหล่านั้น คุณก็ควรทำประกันชีวิตหรือประกันอื่นๆ ทั้งแก่ตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยในปัจจุบันมีกรมธรรม์ประกันชีวิตบางประเภทที่มีลักษณะเป็นการผสมผสานระหว่างการประกันภัยกับการออมเงินระยะยาว

ไม่มีความคิดเห็น: