ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กองทุนรวม : แล้วจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทไหนดี

แล้วเราจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมประเภทไหนดี?

     คุณคงรู้แล้วว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวมแม้จะมีผลตอบแทนที่น่าสนใจ แต่ก็มีความเสี่ยงจากการลงทุนที่เกิดขึ้นตามมาเสมอ ต่อไปเรามาทำความรู้จักว่ากองทุนรวมแบ่งออกเป็นกี่ประเภท มีลักษณะอย่างไร และมีโครงสร้างการลงทุนเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพราะมีกองทุนรวมมากมายหลายประเภทของบริษัทจัดการกองทุนให้คุณสามารถเลือกลงทุนได้ เพื่อที่จะเป็นข้อมูลสำหรับตัดสินใจเลือกซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมประเภทที่เหมาะสมกับคุณ ในส่วนนี้เรามารู้จักเเกี่ยวกับ
  • ประเภทของกองทุนรวม
     กองทุนรวมมีมากมายหลายประเภทให้ตัดสินใจเลือก โดยสามารถแบ่งประเภทของกองทุนรวมตามลักษณะการจำหน่ายและการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ได้เป็น 2 ประเภท คือ
  1. กองทุนปิด หรือกองทุนที่ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน  (Closed-end Fund)  คือ กองทุนที่มีการกำหนดอายุโครงการแน่นอน เปิดให้มีการจองซื้อหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อเริ่มต้นโครงการ หลังจากนั้นจะไม่มีการออกขายหน่วยลงทุนนี้เพิ่ม ทำให้จำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นคงที่ไม่เพิ่มไม่ลดแต่อย่างใด นอกจากนี้ผู้ถือหน่วยลงทุนยังไมาสามารถขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทจัดการกองทุน หรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการได้ ต้องถือไว้เพื่อรอไถ่ถอนคืนเมื่อครบกำหนดอายุโครงการเท่านั้น แต่บริษัทจัดการอาจนำหน่วยลงทุนของกองทุนปิดนั้นไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือจัดให้มีตัวแทนจัดการซื้อขาย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ลงทุนก็ได้
  2. กองทุนเปิด หรือกองทุนชนิดที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน (Open-end Fund) คือ กองทุนที่ไม่มีการกำหนดอายุโครงการหรืออายุการไถ่ถอนคืน จำนวนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมจึงไม่คงที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ เนื่องจากผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถนำหน่วยลงทุนมาขายคืนให้กับบริษัทจัดการกองทุน หรือตัวแทนสนับสนุนการขายได้ตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน กองทุนเปิดจึงมีสภาพคล่องและเป็นที่นิยมมากกว่ากองทุนปิด
ตารางเปรียบเทียบกองทุนเปิดและกองทุนปิด
      นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งกองทุนรวม ตามนโยบายการลงทุนตามมาตราฐานของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต ได้ดังนี้
  1. กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (Equity Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารทุนเป็นหลัก โดยต้องรายงานการถือครองตราสารทุนให้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต ทราบเป็นประจำ ถ้าการถือครองตราสารทุนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจัดการกองทุนต้องแจ้งเหตุผลให้แก่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต เพื่อนำไปเปิดเผยให้แก่ผู้ลงทุนทราบต่อไป โดยปกติแล้ว กองทุนรวมประเภทนี้มีความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นการลงทุนในตราสารทุนซึ่งมรโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูง โดยกองทุนอาจเลือกนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนที่มีอัตราการเติบโตสูง หรือนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ กองทุนรวมประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง
  2. กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (General Fixed Income Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้โดยไมม่มีการลงทุนในตราสารทุน หรือตราสารหนี้กึ่งทุน ( ได้แก่ หุ้นกู้แปลงสภาพ ) โดยปกติแล้วกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่ากองทุนรวมตราสารแห่งทุน ผลตอบแทนจึงไม่ค่อยหวือหวา โดยกองทุนอาจเลือกนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐบาล หรือนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้โดยมุ่งหวังที่จะได้รับรายได้ประจำจากดอกเบี้ย กองทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย
  3. กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพมีกำหนดชำระคืนเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวมประเภทนี้จึงมีความเสี่ยงต่ำมากๆ เนื่องจากลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง และต้องการลงทุนในระยะสั้น
  4. กองทุนรวมผสม (Balance Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนได้ในตราสารทุกประเภท กองทุนรวมประเภทนี้มีโอกาสการลงทุนที่ดีกว่ากองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ผลตอบแทนที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนของตราสารที่ลงทุน จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  5. กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น (Flexible Portfolio Fund) คือ กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนขึ้นกับดุลพินิจในการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุนรวม โดยสามารถจัดสรรเงินลงทุนในตราสารได้ทุกประเภทตามความเหมาะสมในแต่ละสภาวการณ์ ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับ Ceiling และ Floor ในการลงทุนในตราสารทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้ผลตอบแทนและความเสี่ยงจะขึ้นกับการตัดสินใจลงทุนของผู้จัดการกองทุน กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  6. กองทุนรวมหน่วยลงทุน (Fund of Funds) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนและใบแสดงสิทธิที่จะซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งกองทุนรวมประเภทนี้มีข้อดีหลายประการ คือ มีการกระจายการลงทุนไปในกองทุนรวมหลายกองทุนซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการของหลายผู้จัดการกองทุน การกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจึงทำได้ดีกว่าอีกทั้งยังมีต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย ทั้งนี้เพราะกองทุนรวมหน่วยลงทุนมีการลงทุนในหน่วยลงทุนของหลายกองทุนจึงอาจมีค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ซ้ำซ้อน กองทุนรวมประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  7. กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ โดยปกติแล้วการลงทุนในใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหลักทรัพย์จะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ดังนั้นกองทุนรวมประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้มาก
  8. กองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ (Sector Fund) คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตรสารทุนของกิจการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกันตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดการลงทุนจึงมีการกระจุกตัว เนื่องจากเป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ดังนั้น ความเสี่ยงจึงค่อยข้างสูง เหมาะกับผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้มาก
คุณรู้มั้ย! ยังมีกองทุนรวมชนิดเฉพาะเจาะจง (Specific Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆโดยมีการดำรงอัตราส่วนการลงทุนที่แตกต่างไปจากที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต กำหนดไว้ จึงต้องมีคำเตือนที่เกี่ยวกับความเสี่ยงเป็นพิเศษ

  • กองทุนรวมประเภทพิเศษที่ควรรู้จัก
1.กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (Principle Protection Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายมุ่งลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อคุ้มครองเงินต้น(Principle)ของผู้ถือหน่วยลงทุน และเสริมสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุนว่า หลังจากครบกำหนดอายุโครงการลงทุนหรือภายหลังระยะเวลาที่ได้ระบุไว้ ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนไม่ต่ำกว่าเงินลงทุนเบื้องต้นที่ได้ลงทุนไปนั้นเอง กองทุนรวมประเภทนี้มักจะใช้เทคนิคการบริหารการลงทุน 2 แบบ เพื่อคุ้มครองเงินลงทุนเริ่มต้นของผู้ลงทุน คือ
1.แบบ Passive จะมุ่งลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก โดยอาจถือครองได้สูงถึง 90% สำหรับเงินลงทุนส่วนที่เหลือจะนำไปลงทุนในตราสารทุนที่มีความเสี่ยงมากกว่า ทั้งนี้หากการลงทุนในตราสารทุนเกิดขาดทุนหรือมีมูลค่าลดลง กองทุนรวมก็ยังได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยจากการลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้เพียงพอที่จะชดเชยส่วนของเงินต้นที่ขาดทุน หรือมูลค่าที่ลดลงไปได้นั้น
2.แบบ Active จะมุ่งลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้น และลดการถือครองของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ลง หรืออาจไม่ถือครองเลยก็ได้ เมื่อดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์สูงขึ้นโดยต้องไม่ให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่ำกว่ามูลค่า ณ เริ่มต้น และในทางกลับกันจะมุ่งลงทุนในพันธบัตรหรือตราสารหนี้เพิ่มขึ้น และลดการถือครองของตราสารทุน หรืออาจไม่ถือครองเลยก็ได้
     เมื่อราคาตลาดหลักทรัพย์ลดลง โดยไม่ให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่ำกว่ามูลค่า ณ เริ่มต้นเช่นกัน เนื่องจากกองทุนรวมนี้โดยปกติมีความเสี่ยงจากการลงทุนค่อนข้างต่ำ จึงทำให้โอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะสูญเสียเงินต้นนั้นมีน้อย ดังนั้นผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจึงไม่สูงมากนัก กองทุนรวมประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง
คุณรู้มั้ย! กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นไม่ได้รับประกันการจ่ายคืนเงินต้นแต่อย่างใด แต่จะมุ่งลงทุนในนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นจึงอาจเป็นไปได้ที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินต้นคืนจากการลงทุน

2.กองทุนรวมแบบมีประกัน (Guarantee Fund) หมายถึง กองทุนรวมที่จัดให้มีการรับประกันว่า เมื่อมีการถือหน่วยลงทุนครบตามระยะเวลาประกันที่กำหนด จะจ่ายเงินลงทุน หรือทั้งเงินลงทุนและผลตอบแทนคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามจำนวนที่ได้ประกันไว้นั้น โดยอาจจ่ายคืนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้แล้วแต่กรณี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นกองทุนรวมที่จัดให้มีบุคคลอื่นมารับประกันเงินลงทุน(Guarantor) หรือทั้งเงินทุนและผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้นั้นเอง
     สำหรับจุดมุ่งหมายของการจัดตั้งกองทุนรวมประเภทนี้ ก็เช่นเดียวกับกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น นั้นคือเพื่อเสริมสร้างความมั้นใจให้แก่ผู้ลงทุนว่าเงินลงทุนของตนจะไม่สูญไป ทั้งนี้บริษัทจัดการกองทุนจะมอบหมายให้สถาบันการเงินอันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ทำหน้าที่เป็นผู้รับประกันการจ่ายเงินนั้นๆ แต่เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ที่อาจเกิดขึ้น ผู้รับประกันนี้จึงต้องไม่ใช้ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมนั้นๆ นอกจากนี้การรับประกันก็ยังไม่ได้รวมถึงการรับประกันความสามารถในการชำระหนี้ของผู้รับประกันในอนาคต ดังนั้นผู้ลงทุนต้องทำการศึกษารายละเอียดของการรับประกันนั้นๆ รายละเอียดของผู้รับประกัน รวมถึงลักษณะและรูปแบบของการลงทุนด้วยว่า มีการประกันในลักษณะใด เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน และรูปแบบการลงทุนมีระดับความเสี่ยงและโอกาสที่จะได้รับอัตราผลตอบแทนซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุนมากน้อยเพียงใด สำหรับการลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้สามารถเป็นแบบใดแบบหนึ่งในมาตราฐานของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต ดังที่กล่าวมาในข้างต้น
ตารางเปรียบเทีบกองทุนคุ้มครองเงินต้นและกองทุนแบบมีประกัน
3.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) หมายถึง กองทุนรวมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมเงินสำหรับใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ ทั้งนี้นโยบายการลงทุนของ RMF อาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งตามมาตราฐานสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ไม่มีการจ่ายเงินปันผลในระหว่างการลงทุนแต่อย่างใด นอกจากนี้การลงทุนใน RMF ยังมีความเสี่ยงมากกว่าการฝากเงิน ดังนั้นแรงจูงใจสำหรับการลงทุนใน RMF นี้ก็คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไปนั้นเอง โดยเงินลงทุนใน RMF นั้นผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้

  • ได้รับการลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องนำเงินลงทุนใน RMF ไปรวมภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น โดยเมื่อนำเงินลงทุนใน RMF นี้ไปรวมเข้ากับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)ที่ผู้ลงทุนมีอยู่ต้องไม่เกิน 300,000 บาทในปีภาษีนั้น โดยการได้รับผลประโยชน์ทางภาษีนี้ให้นับตามเวลาแบบวันชนวันตั้งแต่วันแรกที่ได้เริ่มลงทุน
  • สามารถลดหย่อยภาษีได้ถึง 600,000 บาทในแต่ละปีภาษี หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนทั้งใน RMF และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)
  • ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)
     นอกจากนี้เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ ผู้ลงทุนต้องลงทุนตามเงื่อนไขการลงทุนของ RMF ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

  1. เงินลงทุนใน RMF ต้องมาจากการประกอบอาชีพ และเป็นเงินได้พึงประเมิณตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
  2. ต้องลงทุนสะสมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยไม่มีการระงับการลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกันแต่หากมีความจำเป็นก็สามารถระงับการลงทุนได้แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปีติดต่อกัน กยเว้นเสียแต่ว่าผู้ลงทุนนั้นจะไม่มีเงินได้จากการประกอบอาชีพแต่อย่างใด ก็สามารถว่างเว้นการลงทุนได้ ไม่ถือว่าเป็นการผิดเงื่อนไขการลงทุน จนกว่าผู้ลงทุนนั้นจะมีเงินได้กลับมาลงทุนต่อไป ทั้งนี้ให้นับอายุการลงทุนแบบวันชนวันตั้งแต่วันแรกที่เริ่มลงทุน เช่น ถ้าคุณเริ่มลงทุนสะสมและต่อเนื่องในกองทุน RMF ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2548 ไปในอนาคตจนเมื่อคุณมีอายุ 56 ปี คุณจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2552 นับเป็นเวลา 5 ปีพอดี
  3. ต้องลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปีแล้วแต่ว่าจะนวนเงินใดจะต่ำกว่า
  4. เงินลงทุนขั้นสูงสุดต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี
  5. ห้ามนำหน่วยลงทุนของกองทุน RMF ไปจำหน่าย โอน จำนำ หรือใช้เป็นหลักประกันใดๆ
  6. การขายคืนหน่วยลงทุนสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ถือหน่วยลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และต้องถือหน่วยลงทุนนั้นไม่น้อยกว่า 5 ปี หากขายคืนหน่อยลงทุนก่อนกำหนดข้างต้น ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไป อีกทั้งต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับในช่วง 5 ปีล่าสุดให้แก่กรมสรรพากร นอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ยังต้องนำไปคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้ในปีที่มรการขายคืนหน่วยลงทุนนั้น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงจำเป็นต้องทำการศึกษาเงื่อนไขการลงทุนข้างต้นเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ก่อนการลงทุนเสมอ กองทุนรวมประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่มีอาชีพอิสระ หรือลูกจ้างที่ไม่มีระบบบำเหน็จบำนาญรองรับ หรือลูกจ้างที่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญอยู่แล้ว แต่ต้องการที่จะลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มวงเงิน 300,000 บาท
4.กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) หมายถึงกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนของผู้ลงทุนทุกสถาบันในรูปของการออมเงินผ่านกองทุนรวมระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันจะช่วยลดความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ ลดการพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ และสร้างเสถียรภาพให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจาก LTF มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญซึ่งมีความเสี่ยงจากการลงทุนค่อนข้างสูง ผู้ลงทุนจึงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มนอกเหนือจากผลตอบแทนที่พึงได้รับดังนี้
    • ได้รับลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องนำเงินลงทุนใน LTF ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท
    • สามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 600,000 บาทในแต่ละปีภาษี หากผู้ลงทุนเลือกลงทุนทั้งใน RMF และ LTF
    • ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain)
         เพื่อใหเได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้างต้น ผู้ลงทุนต้องลงทุนตามเงื่อนไขของการลงทุนของ LTF ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
    1. เงินลงทุนใน LTF ต้องมาจากการประกอบอาชีพ และเป็นเงินได้พึงประเมิณตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร
    2. เมื่อซื้อหน่วยลงทุนของ LTF แล้ว ต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฎิทิน โดยเริ่มนับจากปีที่มีการลงทุนเป็นครั้งแรกถ้าพูดง่ายๆ ก็คือ สมมุติว่าคุณซื้อหน่วยลงทุนของกองทุน LTF ในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 โดยจะครบกำหนด 5 ปีข้างหน้าในเดือนมกราคม 2552 คุณสามารถขายคืนหน่วยลงทุนในวันที่ 2 มกราคม 2552 ได้ คุณยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วนเป็นเวลา 5 ปี ทั้งนี้เพราะถ้านับตามปีปฎิทินที่เริ่มลงทุนเป็นครั้งแรก การที่คุณเลือกลงทุนวันใดวันหนึ่งในปี 2548 ก็นับเป็น 1 ปีปฎอทินแล้ว และการขายคืนหน่วยลงทุนในวันใดวันหนึ่งตามที่กองทุนได้กำหนดไว้ในปี 2552 ก็นับเป็นอีก 1 ปีปฎิทินแล้วเช่นเดียวกัน รวมกับอีก 3 ปีที่ถือครองนับเป็นระยะเวลา 5 ปีปฎิทินพอดี แต่รัยะเวลาที่ถือหน่วยลงทุนจริงๆ กลับเท่ากับ 3 ปี กับ 2 วันเท่าทั้น
    3. เมื่อถือหน่วยลงทุนครบ 5 ปีปฎิทิน แล้วผู้ลงทุนสามารถเลือกถือหน่วยลงทุนต่อไปได้ หรืออาจเลือกขายคืนหน่วยลงทุนเพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ทั้งนี้กองทุน LTF มีกำหมดการขายคืนหน่วยลงทุนได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง
    4. ไม่มีการจำกัดการลงทุนขั้นต่ำ โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 300,000 บาท
    5. ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่อง โดยจะนับเงินที่ลงทุนแยกกันไปในแต่ละปี เช่น ถ้าคุณลงทุนเงินก้อนแรกในปี 2547 ก็สามารถไถ่ถอนได้อีก 5 ปีข้างหน้าในปี 2551 ถ้าลงทุนเงินอีกก้อนหนึ่งในปี 2548 ก็สามารถไถ่ถอนได้อีก 5 ปีข้างหน้าในปี 2552 เป็นต้น
    6. ห้ามนำหน่วยลงทุนของกองทุน LTF ไปจำหน่าย โอน จำนำ หรือใช้เป็นหลักประกันใดๆ
    7. หากมีการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด 5 ปีปฎิทิน ถือว่าผิดเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อีกต่อไป และต้องคืนเงินสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นพร้อมกับเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนยื่อนขอยกเว้นภาษี จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนภาษีนั้น นอกจากนี้ยังต้องจาสยภาษีสำหรับเงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ของเงินกำไรที่ได้รับ และยังต้องนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุนนั้นไปรวมเป็นเงินได้เพ่ือเสียภาษีเงินได้ตอนปลายปีอีกด้วย
         โดยปกตินโยบายการลงทุนของกองทุน LTF จะเลือกลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนนั้น ผลตอบแทนจากการลงทุนค่อนข้างสูงโดยอาจมีการจ่ายเงินปันผล หรือไม่มีการจ่ายเงินปันผลคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนก็ได้ สำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินปันผล ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับเงินปันผลนั้นมีภาระภาษีที่ต้องจ่าย โดยสามารถเลือกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หรือจะเลือกไม่หัก ณ ที่จ่าย แต่นำเงินปันผลที่ได้รับนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีทีเดียวเลยก็ได้
    ตารางเปรียบเทียบกองทุน RMF และกองทุน LTF
    5.กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund : FIF) หมายถึงกองทุนรวมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเงินที่ระดมได้จากการขายหน่วยลงทุนภายในประเทศไทยไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยการจัดตั้งกองทุน FIF นั้นต้องได้รับอนุญาตจากทั้งสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต และธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนของ FIF อาจเป็นแบบใดแบบหนึ่งตามมาตราฐานของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต ตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยอาจจ่ายเงินปันผลหรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายกองทุนนั้นๆ

    6.กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) หรือที่มีชื่อเรียกสั้นๆว่า "กงอ 1" หมายถึง กองทุนรวมซึ่งนำเงินที่ระดมได้จากการขายหน่วยลงทุนไปวื้อลงทุน หรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ โดยมรจุดมั่งหมายหลักก็เพื่อต้องการบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนนั้นให้ได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในรูปของค่าเช่า หรือกำไรสุทธิที่เกิดจากการดำเนินงาน(ไม่ได้มุ่งที่จะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนา และขายต่อแต่อย่างใด)
         กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์นี้ต้องเป็นปิดเท่านั้น โดยมีนโยบายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในอัตราไม่ต่ำกว่า 75% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้อสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนนั้นต้องอยู่ในประเทศไทย และไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่า แต่ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้ว หรือก่อสร้างไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์นั้น สำหรรับการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมนั้นจะมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการกองทุนให้เป็นผู้ทำหน้าที่แทน โดยมีผู้ดูแลผลประโยชน์วึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม นอกจากนี้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ลงทุน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จึงถูกกำหนดว่าต้องจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อให้สามารถซื้อขายได้เสมือนกับหลักทรัพย์จดทะเบียนทั่วไปนั้นเอง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
    • กองทุนรวมที่ระบุอสังหาริมทรัพย์ที่จะลงทุนอย่างเฉพาะเจาะจง (Specified Property Fund)
    • กองทุนรวมที่ระบุเพียงประเภท และทำเลที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการลงทุน (Non-Specified Property Fund)
         สำหรับประโยชน์ของการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ก็คือ เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ด้วยจำนวนเงินลงทุนที่ไม่มากนัก อีกทั้งยังช่วยสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ลงทุนได้มากกว่าลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน ในรูปเงินปันผลในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90% ของกำไรสุทธิ และยังอาจได้รับกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการขายคืนหน่อยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย แจ่ก็ใช่ว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะไม่มีข้อเสียเลยซะทีเดียว ทั้งนี้เพราะรูปแบบการลงทุนเป็นการระดมเงินทุนเพื่อมาใช้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง แต่สภาพคล่องต่ำ ดังนั้นการกระจายการลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้จึงค่อนข้างน้อย ผู้ลงทุนจึงต้องทำการศึกษาให้เข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุน ตลอดจนนโยบายการลงทุน และรายละเอียดของอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนได้ลงทุนไปนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

    • รู้จักกองทุนรวมส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ
    1.กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) หมายถึง กองทุนที่เกิดจาการที่ผู้ลงทุน หรือกลุ่มผู้ลงทุนนำเงินและทรัพย์สินมารวมกันเป็นเงินก้อนใหญ่ และมอบหมายให้บริษัทจัดการกองลงทุนเป็นผู้บริหารจัดการลงทุนแทนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดตามที่ได้คาดหวังไว้ โดยมีการทำสัญญากำหนดขอบเขตนโยบายการลงทุนไว้ก่อนเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้เงินลงทุนนั้นอาจมาจากผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีสัญชาติไทยทั้งหมด หรือเป็นผู้ลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมดเท่านั้นโดยมีผู้ลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป แต่ต้องไม่เกิน 9 คน
         เนื่องจากเป็นการทำสัญญาระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุน ดังนั้นกองทุนส่วนบุคคลนี้จึงไม่ได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เช่น กองทุนรวมทั่วไป กรรมสิทธิ์ในเงินกองทุนยังคงเป็นของผู้ลงทุน ด้านบริษัทจัดการกองทุนเมื่อรับบริหารเงินลงทุนแล้ว ต้องดำเนินการแต่งตั้ง "ผู้รับฝากสินทรัพย์" ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการลงทุน มาทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาทรัพย์สิน ตลอดจนติดตามสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนของกองทุนรวมส่วนบุคคลนั้น
         สำหรับประโยชน์ของการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล ก็คือ การเพิ่มโอกาสในการลงทุนที่มากกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์เองโดยตรง นอกจากนี้ ยังให้ความเป็นส่วนตัว และมีความยืดหยุ่นกว่าการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป โดยผู้ลงทุนเป็นผู้กำหนดนโยบายร่วมกับผู้จัดการกองทุน และสามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการของตน อีกยังสามารถยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา(ต้องแจ้งความประสงค์การเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น) โดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า อย่างไรก็ตามสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคลนั้น ผู้ลงทุนยังคงมีภาระภาษีเงินได้ที่ต้องจ่ายในอัตราเดียวกันกับกรณีที่ผู้ลงทุนเลือกลงทุนในหลักทรัพย์โดยตรง
    2.กองทุนสำรองเพื่อการเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หมายถึง การที่ลูกจ้าง และนายจ้างจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการออมเงินแบบผูกผันระยะยาว(Contractual Savings) สำหรับลูกจ้างเพื่อไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุ เพื่อทุพพลภาพ หรือเมื่อต้องการออกจากงานทั้งนี้เงินที่นำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเงินของสมาชิกทุกคน โดยปนะกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 2% แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง เงินที่นายจ้างจ่ายเพิ่มให้อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง (นั้นคือ นายจ้างมีส่วนช่วยลูกจ้างออมเงินด้วย) และเงินที่ได้มาจากการที่มีผู้อื่นบริจาคให้กองทุนอีกส่วนหนึ่ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ถือเป็นสวัสดิการของนายจ้างที่จัดให้เพื่อสนับสนุนการออมของลูกจ้าง โดยมีรูปแบบการลงทุน 2 ประเภท คือ
    1. กองทุนเดี่ยว (Single Fund) เป็นกองทุนซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยนายจ้างเพียงรายเดียว หรือนายจ้างหลายรายที่เป็นบริษัทในเครื่อเดียวกัน (Group Fund) โดยปกตอจะมีขนาดของเงินกองทุนค่อนข้างใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนเองได้ นอกจากนี้นายจ้างและกองทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุน
    2. กองทุนร่วม (Polled Fund) เป็นกองทุนซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยนายจ้างมากกว่า 1 รายขึ้นไป โดยนำเงินกองทุนของนายจ้างทุกรายมารวมกันจึงทำให้มีปริมาณเงินกองทุนมากขึ้น สามารถกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงได้โดยการลงทุนในตราสารมากชนิดขึ้น ทั้งนี้นายจ้างแต่ละรายจะมีกรรมสิทธิ์ในกองทุนและมีการแบ่งเฉลี่ยค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนตามสัดส่วนของเงินกองทุนของตน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดนโยบายการลงทุนกลางสำหรับใช้ร่วมกันด้วย
         เมื่อมีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว กองทุนจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยจะมีคณะกรรมการกองทุน (Provident Fund Committee) ทำหน้าที่เป็นบริษัทคัดเลือกบริษัทจัดการกองทุน และกำหนดกรอบการลงทุน โดยทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนจะอยู่ในความดูแล "ผู้รับฝากสินทรัพย์" ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัทจัดการกองทุน
    ตารางเปรียบเทียบ RMF กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

    ไม่มีความคิดเห็น: