ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กองทุนรวม : ความเสี่ยงและผลตอบแทนในกองทุนรวม

ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากกองทุนรวม

"การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุน" มักเป็นประโยคทิ้งท้ายของหนังสือชี้ชวนของบริษัทจัดการกองทุนต่างๆ เพื่อเป็นคติเตือนใจให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าความเสี่ยงในการลงทุนนั้นมีบ้าง ไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่าจะให้ระดับมืออาชีพบริหารเงินกองทุนแล้วก็ตาม สิ่งสำคัยคือ คุณสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด และรู้จักความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ความเสี่ยงของกองทุนรวมแต่ละประเภทนั้นมีลักษณะในทำนองเดียวกันกับตราสารหรือหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมนั้นๆ เน้นลงทุน เช่น กองทุนรวมตราสารทุนก็จะมีความเสี่ยงแบบเดียวกับความเสี่ยงของตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ก็จะมีความเสี่ยงแบบเดียวกันกับความเสี่ยงของตราสารหนี้ แต่คสามเสี่ยงที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นจะน้อยกว่าความเสี่ยงของการลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวด้วยตนเอง
ความเสี่ยงประเภทต่างๆที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนผ่านกองทุนรวม
  1. Market Risk เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเมื่อราคาหรือผลตอบแทนของตราสารทางการเงินที่อยู่ในตลาดมีการปรับตัวผันผวนเพราะมีปัจจัยต่างๆ มากระทบ อันได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจระดับมหาภาค ความผันผวนของค่าเงินหรืออัตราดอกเบี้ย กระแสทางการเมือง ภาวะสงคราม และภัยธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากกระแสความรู้สึกของผู้ลงทุนที่มีต่อสภาวะตลาด (Market Sentiment) โดยแต่ละปัจจัยสร้างผลกระทบต่อตราสารทางการเงินแต่ละประเภทได้แตกต่างกัน ความเสี่ยงประเภทนี้ไม่สามารถขจัดไปได้ แต่มีวิธีง่ายๆที่สามารถใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงประเภทนี้ คือ ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนอย่างใกล้ชิด
  2. Interest Rate Risk คือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย โดยปกติแล้วราคาของตราสารหนี้จะสูงขึ้นหรือลดลงก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย กรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง จะส่งผลให้ราคาตลาดของตราสารหนี้สูงขึ้น เนื่องจากอัตราที่ดอกเบี้ยที่ระบุไว้บนตราสารหนี้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ลดลงนั้นเอง ในทางตรงกันข้ามถ้าอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ ราคาตลาดของตราสารหนี้นั้นก็จะลดลง แน่นอนว่าความเสี่ยงประเภทนี้ยากที่จะขจัดไปได้เช่นเดียวกัน สำหรับวิธีบรรเทาความเสี่ยงชนิดนี้ก็คือ การดูจังหวะการลงทุน (Market Timing) และเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีกำหนดอายุไถ่ถอนคืนสั้น เนื่องจากยิ่งตราสารหนี้เหลืออายุการไถ่ถอนคืนยาวเท่าใด ก็จะมีโอกาสที่จะเผชิญกับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเท่านั้น แน่นอนว่าความเสี่ยงประเภทนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้
  3. Purchasing Power Risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) โดยมีผลให้อำนาจการซื้อของเงินที่ได้จากการลงทุน หรือทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับลดลงนั่นเอง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ถือครองโดยกองทุนรวม เนื่องจากความไม่แน่นอนของระดับราคาหลักทรัพย์ ความเสี่ยงประเภทนี้ไม่สามารถขจัดไปได้ สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงประเภทนี้ได้โดยการติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
  4. Liquidity Risk คือ ความเสี่ยงจากการที่ผู้ลงทุนไม่สามารถแปรสภาพหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ให้เป็นตัวเงินได้ในทันทีอาจเป็นเพราะขายไม่ได้ หรือขายได้แต่ไม่ได้ในราคาที่กำหนดไว้ กรณีกองทุนรวมซึ่งมีกฎหมาย ในเรื่องการถือครองทรัพย์สินใกล้เคียงเงินสด โดยปกติต้องดำรงสัดส่วนการถือครองทรัพย์สิน และทรัพย์สินใกล้เคียงเงินสดให้ได้อยู่ในอัตราที่กำหนด หากทรัพย์สินที่ถือครองนั้นไม่สามารถแปรสภาพเป็นเงินสดได้เมื่อจำเป็น ก็คงต้องประสบปัญหาเป็นแน่แท้ สำหรับวิธีลดระดับความเสี่ยงประเภทนี้ ได้แก่ การเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีมูลค่า และปริมาณการซื้อ (Volume) ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ
  5. Sector Or Industry Risk คือ ความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละอุตสหกรรม อันอาจเกิดจากอุตสหกรรมเริ่มอิ่มตัวการเป็นอุตสหกรรมที่ไม่ได้การสนับสนุน และแนวโน้มของอุตสหกรรมไม่ค่อยดี เป็นต้น โดยวิธีลดระดับความเสี่ยงประเภทนี้ก็คือ การเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ มากกว่าหนึ่งอุตสหกรรม หรือที่เรียกกันว่า การกระจายความเสี่ยงการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง (Deversification) นั้นเอง ซึ่งในกรณีกองทุนรวมสามารถระดมเงินทุนได้จากผู้ลงทุนจำนวนมาก จึงทำให้ผู้จัดการกองทุนรวมสามารถกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผู้ลงทุนแต่ละคนจะสามารถทำได้เอง
  6. Specific Or Company Risk คือ ความเสี่ยงเฉพาะตัวของบริษัทผู้ออกตราสาร อันอาจเกิดขึ้นจากคุณภาพของทีมผู้บริหาร การบริหารงานที่ผิดพลาดและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดเป็นต้น สำหรับวิธีลดระดับความเสี่ยงประเภทนี้ ก็คือ การกระจายการลงทุนไปในหลักทรัพย์มากกว่าหนึ่งประเภท นอกจากความเสี่ยงที่เกิดจากตัวผู้ออกตราสารแล้ว ความเสี่ยงประเภทนี้ยังรวมถึงความเสี่ยงในการเลือกบริษัทจัดการกองทุนรวมอีกด้วย เพราะหากผู้จัดการกองทุนรวมไม่มีความสามารถเพียงพอ ก็อาจจะทำให้ผู้ลงทุนเสียหายได้เช่นกัน
  7. Credit Or Default Risk คือ ความเสี่ยงเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือในด้านฐานะของผู้ออกตราสาร อาจเกิดขึ้นเพราะผู้ออกตราสารทางการเงินไม่สามารถทำตามเงื่อนไข หรือข้อผูกผันที่มีอยู่ เช่น บริษัทผู้ออกตราสารหนี้บางราย ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้น และดอกเบี้ยให้กับผู้ลงทุนได้ ย่อมมีผลต่อกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารดังกล่าว ความเสี่ยงประเภทนี้สามารถลดลงได้โดยการกระจายการลงทุนในตราสารหลากหลายประเภท หรืออาจจะลงทุนในระยะเวลาที่ยาวขึ้นก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังอาจพิจารณาความเสี่ยงได้โดยดูจากผลอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัทผู้ออกตราสารนั้น ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating Agency) ประเทศไทยมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ คือ The Thai Rating and Information Service Co.,Ltd. (TRIS) และ The Fitch Ratings (THAILAND) Ltd.
ระดับความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนรวม

เมื่อการลงทุนของกองทุนรวมมีกำไรผู้ถือหน่วยลงทุนก็จะได้รับ
  • ส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล (Dividend) โดยเฉพาะในกรณีที่กองทุนนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผล
  • กำไรส่วนเกินมูลค่าหน่วยลงทุน (Capital Gain) เมื่อผู้ลงทุนนั้นขายคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ ซึ่งวัดได้จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าที่แรกเริ่มลงทุน
ทั้งนี้ผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายได้รับ ก็คือ ผลตอบแทนซึ่งกองทุนรวมได้รับจากการลงทุนในตราสารการเงินประเภทต่างๆ และนำมาเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอีกทีหนึ่งตามสัดส่วนที่ได้ลงทุนไว้แต่แรกในกองทุนรวมนั้นเอง อนึ่งผู้ลงทุนควรเข้าทำความเข้าใจเสียก่อนว่าผลตอบแทนในอดีตที่ได้รับจากกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งรับประกันผลตอบแทนในอนาคตที่จะได้รับ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อภาวะการลงทุน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

เมื่อกองทุนรวมนำเงินไปลงทุนในตราสารทุน ผลตอบแทนที่ได้รับ คือ

  1. เงินปันผล (Dividend) คือ เงินส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานในแต่ละปีของกิจการที่กองทุนรวมนำเงินไปลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับประมาณเดือนเมษายนของทุกปี
  2. กำไรส่วนเกินทุน ( Capital Gain) คือ ผลต่างระหว่างราคาขายหลักทรัพย์ และราคาทุนที่ซื้อมาเกิดขึ้นเมื่อกองทุนรวมนั้นสามารถขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ได้ในราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา

เมื่อกองทุนรวมนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ ผลตอบแทนที่ได้รับ คือ

  1. ดอกเบี้ยรับ (Interest Received) กองทุนรวมจะได้รับดอกเบี้ยประจำเป็นงวดๆ เมื่อถือตราสารหนี้ไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน หรือเมื่อขายตราสารหนี้ที่ลงทุนนั้นออกไป
  2. ส่วนลดรับ (Discount Earned) หากกองทุนรวมลงทุนในตราสารหนี้ประเภทไม่จ่ายดอกเบี้ย (Zero Coupon Bond) ก็จะได้รับส่วนลดรับ ซึ่งเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาซื้อ และมูลค่าชำระคืน เมื่อครบกำหนดไถ่กอน
  3. กำไรส่วนเกินทุน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินลดลง ส่งผลให้ราคาของตราสารหนี้ในตลาดสูงขึ้น
      มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ของกองทุนรวม ก็คือ มูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนรวมถือครองอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยต้องทำการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทุกวันทำการ และต้องได้รับและการตรวจสอบและเห็นชอบโดบผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น
       การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลงทุน สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(NAV)=มูลค่าทรัพย์สินตามราคาตลาด+ผลตอบแทนสะสม + เงินสด-ค่าใช้จ่ายของกองทุน

มูลค่าต่อหน่วย (NAV ต่อหน่วย) = มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ / จำนวนหน่วยลงทุน

      มูลค่าต่อหน่วย "น้อยกว่า" ราคาที่ลงทุนเริ่มแรก ผู้ลงทุนอยู่ในฐานะ "ขาดทุน"
      มูลค่าต่อหน่วย "มากกว่า" ราคาที่ลงทุนเริ่มแรก ผู้ลงทุนอยู่ในฐานะ "กำไร"
     ในกรณีของกองทุนปิด จะมีการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าต่อหน่วย ให้ผู้ลงทุนทราบทุกวันสุดท้ายของสัปดาห์สำหรับในกรณีของกองทุนเปิดจะทำการประกาศทุกวันทำการที่มีการซื้อขายหน่วยลงทุน การประกาศดังกล่าวต้องกระทำในหน้าหนังสือพิมพ์ข่าวธุรกิจอย่างน้อยหนึ่งฉบับ หรือเผยแพร่ ณ ที่ทำการหรือเว็ปไซต์ของบริษัทตัวแทนจำหน่าย เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบและนำไปใช้ในการวิเคราห์สถานะการเงินของตนในกองทุนรวมนั้น โดยอาจนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานในอดีต หรือเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนอื่นที่มีนโยบายคล้ายกันในช่วงเวลาเดียวกันหรืออาจเปรียบเทียบกับดัชนีมาตราฐาน เช่น ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: